คำอธิบาย
เวลา
นวนิยายรางวัลซีไรต์ ประจำปี พ.ศ.๒๕๓๗ ว่าด้วยความหมายของชีวิตในบ้านพักคนชรา นำเสนอด้วยกลวิธีแบบนวนิยาย บทละคร และบทภาพยนตร์ ผสมผสานกัน
เรื่องย่อ : ผู้กำกับภาพยนตร์เข้าไปดูละครเวที เขาเป็นชายที่อยู่ในวัยปลายคนแล้ว ละครเวทีที่เขาเข้าไปดูนั้นเป็นเรื่องของคนชราในสถานสงเคาระห์ ซึ่งจัดแสดงโดยนักศึกษาหนุ่มสาว ผู้กำกับภาพยนตร์ปรามาสเด็กหนุ่มสาวว่า พวกเขาจะเข้าใจคนแก่ได้อย่างไร ในเมื่อเขายังอยู่ในวัยหนุ่มสาว
เนื้อเรื่องของละครเวที เป็นเหตุการณ์จำลองภายในสถานอนุเคราะคนชรา เป็นเหตุการณ์ภายในวันหนึ่ง ตั้งแต่เช้าจนค่ำถึงเวลานอน ได้เห็นชีวิตของคนชราที่มาอยู่ในที่เดียวกัน บางคนเคยเป็นผู้ดี บางคนลูกเอามาทิ้งไว้ที่นี่ บางคนตัดสินใจมาอยู่เอง เพราะคิดว่าตัวเองเป็นภาระของลูกหลาน ทำให้ลูกหลานลำบาก บางคนถูกหลานโกงจนหมดตัว แล้วนำมาทิ้งไว้ที่นี่ ฯลฯ ต่างรอวันตายอยู่ในสถานที่แห่งนี้
รูปแบบของนวนิยายเรื่องนี้ เป็นวิธีผสมผสานกันระหว่าง นวนิยาย บทละคร และบทภาพยนตร์ กล่าวคือ ขณะที่ผู้กำกับภาพยนตร์นั่งดูละครเวที เขานึกภาพว่าถ้าเขาทำเป็นภาพยนตร์ (บทภาพยนตร์) เขาจะเสนอภาพอย่างไรในเหตุการณ์นี้ และในขณะที่เขาดูละครเขา (ผู้กำกับภาพยนตร์) ก็นึกย้อนถึงชีวิตตัวเอง นึกถึงภรรยาที่เคยอยู่ด้วยกัน นึกถึงลูกสาวที่จมน้ำตาย โดยผู้เขียนใช้รูปแบบนวนิยายมาบรรยายความคิดความรู้สึกของผู้กำกับภาพยนตร์ไปพร้อมๆกัน ในขณะเดียวกัน บางช่วงผู้เขียนก็นำรูปแบบของนิยาย มาใช้บรรยายชีวิตที่รันทดของคนชราก่อนที่จะถูกนำมาทิ้งไว้ที่แห่งนี้ บางช่วงผู้เขียนนำบทละครเวทีที่ใช่เล่นอยู่บนเวทีมาให้อ่าน นวนิยายเรื่องนี้เป็นการสอดผสานกันทั้งสามเท็คนิคนี้อย่างกลมกลืน ให้เรื่องได้ดำเนินต่อไปอย่างลื่นไหล ชวนติดตาม
หนังสือเล่มนี้นอกจะเสนอปัญหาคนแก่ที่ถูกสังคมทอดทิ้งแล้ว ยังมีข้อคิดของการใช้ชีวิตของเราอย่างแยบยล โดยเฉพาะ ชายชราวิกลจริตที่ถูกขังอยู่ในห้องลูกกรง ที่เฝ้าตะโกนออกมาเป็นระยะๆ ว่า “ไม่มีอะไร ไม่มีอะไรจริงๆ”
ข้อมูลหนังสือ : เวลา
นวนิยายรางวัลซีไรต์ ปี 2537
ISBN : 9786167751115
ผู้เขียน : ชาติ กอบจิตติ
สำนักพิมพ์ : หอน
จำนวนหน้า : 256
ปีที่พิมพ์ : 2563